สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

    1. หลักการวิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้น

          เรื่องสั้น คือ งานเขียนที่แต่งขึ้นเป็นเรื่อง มีขนาดสั้น และไม่ซับซ้อนเหมือนงานเขียนประเภทนวนิยาย   แต่ก็ไม่ใช่นวนิยายขนาดสั้น หรือการย่อนวนิยายให้สั้นลง

    2. ลักษณะเรื่องสั้น

          1) มีขนาดสั้นและมุ่งเสนอแนวคิดเพียงอย่างเดียว

          2) มีโครงเรื่องสนุก เร้าใจติดตาม

          3) มีการดำเนินเรื่องในช่วงระยะเวลาสั้น

          4) มีตัวละครสำคัญน้อยตัว

          5) มีการสร้างฉาก บรรยากาศ บทสนทนา และองค์ประกอบต่าง ๆ ด้วยภาษาและกลวิธีการแต่งที่กระชับรัดกุม และทำให้เรื่องสมจริง

    3. การพิจารณาแนวคิดสำคัญของเรื่องสั้น

          1) ชื่อเรื่อง นับเป็นจุดชี้แนะหัวใจของเรื่องสั้น

          2) พิจารณาจากข้อขัดแย้งของเรื่อง

          3) สรุปสาระสำคัญ โดยการตอบคำถามให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และทำไม

          4) ภูมิหลัง การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและเหตุการณ์ในเรื่องจะช่วยให้เข้าใจเรื่องสั้นนั้นได้ดียิ่งขึ้น

          5) น้ำเสียงหรือหางเสียงของผู้แต่ง บางครั้งผู้แต่งไม่ได้นำเสนออย่างตรงไปตรงมา

    4. องค์ประกอบของเรื่องสั้น

          1) แนวคิดหรือแก่นเรื่อง (Theme) คือสาระสำคัญที่ผู้เขียนตั้งใจจะบอกแก่ผู้อ่าน เป็นแนวคิดหลักเพียงแนวคิดเดียวของเรื่อง ผู้เขียนอาจจะบอกแนวคิดตรง ๆ โดยผ่าน “ปาก” ของตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่อง

          2) โครงเรื่อง (Plot) คือเค้าโครงของการดำเนินเรื่องที่ผู้ประพันธ์กำหนดขึ้น

          3) ตัวละคร (Characters) และบทสนทนา (Dialogue)

          4) ฉาก (Setting) คือ สถานที่ เวลา และสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เหตุการณ์ในเรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

  1. วิเคราะห์วิถีไทยและอธิบายคุณค่าจากเรื่องสั้นเรื่อง ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ ได้
  2. พูดนำเสนอผลงานการวิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้น วิถีไทย คุณค่า และข้อคิดที่พบในเรื่องสั้นเรื่อง   ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ ได้

การวัดผลและประเมินผล

1. ใช้คำถาม

2. สังเกตพฤติกรรม

ปีการศึกษา 2564 / 1
ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มสาระ ภาษาไทย
หน่วย หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 พัฒนาพาที
ชั่วโมง พินิจวรรณกรรม
เรื่อง พินิจวรรณกรรม 22 ก.ย. 64 (มีใบงานและใบความรู้ประกอบการสอน)